จอตาเสื่อมจากออกซิเจน

Updated 2016-02-23 17:50:00 by นพ. รัฐ อิทธิพานิชพงศ์


จอตาเสื่อมจากออกซิเจน 

บทความโดย ศ.พ.ญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต


คุณธิดา ดีใจมากเมื่อการทดสอบพบว่า เธอตั้งครรภ์หลังจากแต่งงานมา 5ปี ยังไม่มีท่าทีจะมีลูก หลังจากปรึกษาสูติแพทย์ผู้ชำนาญเรื่องกรณีมีบุตรยาก และเริ่มท้องสมใจ คุณธิดาปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์โดยตลอด หวังว่าลูกที่เกิดมาจะแข็งแรง สมบูรณ์ การตรวจครรภ์ในระยะหลัง แพทย์แจ้งว่าเธอมีลูกแฝด เมื่อครรภ์มีอายุใกล้จะครบ 8 เดือน คุณธิดาเริ่มเจ็บท้องคลอด และได้คลอดลูกสาวฝาแฝดโดยน้ำหนักตัวคนโต 2000 กรัม แต่คนเล็กน้ำหนักเพียง 1400 กรัม คนโตดูแข็งแรงปกติดี ส่วนคนเล็กมีการหายใจไม่สะดวกต้องนำเข้าตู้อบร่วมกับให้ออกซิเจน 1 สัปดาห์ เด็กมีอาการดีขึ้น เอาออกจากตู้อบและงดการให้ออกซิเจนได้และแพทย์ให้กลับบ้านได้ โดยได้รับการตรวจตาก่อนกลับ (เด็กอายุประมาณ 10 วัน) โดยการตรวจตายังไม่พบความผิดปกติอะไร แต่นัดให้มาตรวจซ้ำอีกหนึ่งสัปดาห์ คุณธิดาพาลูก 2 คนกลับบ้าน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เด็กทั้ง 2 เติบโตตามวัยมีพัฒนาการทางร่างกายปกติ เมื่อเด็กอายุครบต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคก็ไปรับการฉีดวัคซีนตามนัด โดยลืมที่นัดไว้กับจักษุแพทย์เสียสนิท จนเด็กอายุได้ 4 เดือน แม่สังเกตว่าลูกคนเล็กมีดวงตาค่อนข้างจะเลือนลอย ไม่ยิ้มทักเวลาแม่ให้นม การพัฒนาทางร่างกายดูเหมือนจะช้ากว่าคนพี่จึงเข้าใจว่า เพราะแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า เมื่ออายุใกล้ 5 เดือน แม่ยิ่งสังเกตว่าลูกคนเล็กจะมองอะไรไม่ค่อยเห็น จึงพามาพบจักษุแพทย์ พบว่าหนูน้อยมีจอตาผิดปกติที่เรียกว่า retinopathy of prematurity เป็นพยาธิสภาพอันเนื่องมาจากได้รับออกซิเจนตอนแรกเกิดจากการที่มีน้ำหนักตัวน้อย

จอตาของคนเราเริ่มเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดามีหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจอตา โดยหลอดเลือดเริ่มมาจากส่วนกลางของขั้วประสาทตา (optic disc) และงอกออกมาถึงจอตาบริเวณขอบๆ (retina periphery) โดยเริ่มตั้งแต่อายุในครรภ์ 4 เดือน จะมาสิ้นสุดที่จอตาส่วนขอบ เมื่ออายุ 1 เดือนหลังคลอดในเด็กที่คลอดครบกำหนด นั่นคือแม้เด็กครบกำหนด น้ำหนักตัวปกติจอตายังไม่สมบูรณ์นักจนกว่าจะอายุ 1 เดือน ถ้าเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หลอดเลือดที่มาเลี้ยงจอตายิ่งจะยังไม่สมบูรณ์ และหลอดเลือดที่ไม่สมบูรณ์นี้ไวต่อระดับออกซิเจนในเลือด เมื่อเด็กมีปัญหาการหายใจแพทย์จำเป็นต้องให้ออกซิเจนเพื่อช่วยชีวิตไว้ก่อน เมื่อมีออกซิเจนในเลือดสูงหลอดเลือดที่จอตาจะตีบ การตีบของหลอดเลือดถ้าเป็นระยะสั้นๆ ก็อาจกลับคืนปกติได้ ถ้าได้ออกซิเจนนานหลอดเลือดนี้อาจอุดตันไม่คลายตัว ทำให้จอตาส่วนขอบๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงจึงมีการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่มีผนังอ่อนแอพร้อมจะฉีกขาด การเกิดหลอดเลือดใหม่มักจะร่วมกับมีเนื้อเยื่อพังผืด (fibrovascular) จึงมีโอกาสดึงรั้งจอตาให้หลุดลอก พยาธิสภาพดังกล่าวนี้มักเกิดในเด็กที่อายุครรภ์น้อย น้ำหนักแรกเกิดน้อย ทารกที่มีโรคอื่นโดยเฉพาะการหายใจติดขัด และเชื่อว่าการให้ออกซิเจนน่าจะเป็นตัวเหตุ ในปัจจุบันเด็กแรกเกิดที่น้ำหนักตัวน้อยที่ได้ออกซิเจนจำเป็นต้องประเมินระดับออกซิเจนในเลือดไม่ให้มากเกินไปและถ้าจำเป็นต้องให้ออกซิเจน ควรที่จะตรวจดูจอตาหากมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นต้องรีบให้การรักษาอาจจะด้วยแสงเลเซอร์หรือความเย็น ยับยั้งการงอกของหลอดเลือดใหม่ เด็กที่เข้าตู้อบได้รับออกซิเจนควรรับการตรวจจอตาเมื่ออายุ 2 – 3 สัปดาห์ หรือเมื่อเอาออกจากตู้อบได้ และติดตามโดยตรวจจอตาจนพบว่าหลอดเลือดเจริญไปสุดขอบแล้ว
เป็นที่น่าเสียดายที่คุณธิดาลืมที่นัดกับจักษุแพทย์ไว้ปล่อยจนกระทั่งมีพังผืดและหลอดเลือดเกิดใหม่ จนมีการดึงรั้งจอตา จนเลยเวลาที่จะแก้ไข พยาธิสภาพอาจมากหรือน้อยแตกต่างกัน ถ้าพยาธิสภาพมากอาจทำให้เด็กมีสายตาเลือนรางมาก หรือพยาธิสภาพไม่มากอาจทำให้สายตาผิดปกติไม่มากอาจตามมาด้วยสายตาสั้น ตาเข ซึ่งต้องแก้ไขกันต่อไป
เด็กที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย ได้รับออกซิเจน แม้จะมีดวงตาดูเหมือนปกติ ควรรับการตรวจจอตาตามนัดหมายจนกว่าแพทย์จะแน่ใจว่าการพัฒนาของหลอดเลือดที่จอตาดำเนินไปถึงที่สุดแล้ว