การปรับสภาพแวดล้อมและเทคนิคช่วยในการมองเห็นสำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตา

Updated 2016-11-14 09:18:00


การปรับสภาพแวดล้อมและเทคนิคช่วยในการมองเห็นสำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตา

เรื่อง : พ.อ.หญิง ผศ.พญ. ฐิติพร รัตนพจนารถ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ภาพ : พ.ต. นพ. ศีตธัช วงศ์กุลศิริ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

พ.อ.หญิง ผศ.พญ. ฐิติพร รัตนพจนารถ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

เมื่อมีการสูญเสียการมองเห็นที่ไม่สามารถกลับคืนมาได้ คุณอาจจะโกธรและโศกเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้คุณผ่านพ้นความรู้สึกดังกล่าว  คุณสามารถเรียนรู้ที่จะใช้สายตาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์  ปรับแต่งสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย  ปรับตัวในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ค่ะ  

ทคนิคต่างๆที่จะช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น

ทำให้ใหญ่ขึ้น

คุณสามารถนั่งใกล้โทรทัศน์มากขึ้นกว่าเดิม   การนั่งใกล้โทรทัศน์ไม่ได้ทำให้สายตาเสีย   เลือกจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่  โทรศัพท์สีขาวที่มีหมายเลขสีดำตัวใหญ่  ใช้ปากกาสีเข้มเส้นใหญ่

IMG_8133.jpg

ใช้ความแตกต่างของสีเพื่อเพิ่มความชัดเจน

  • ใช้แก้วสีขาวใส่กาแฟ  แก้วสีเข้มใส่นม   เลือกจานสีขาวใส่ข้าวกล้อง จานสีเข้มใส่ข้าวขาว  เป็นต้น
  • ใช้แถบสีสะท้อนแสงหรือทาสีบริเวณขอบบันไดจะช่วยเห็นขั้นบันไดแต่ละขั้นให้ชัดเจนขึ้น  
  • ติดแถบสีรอบสวิทช์ไฟ เต้าไฟ  ลูกบิดประตู
  • ใช้สติ๊กเกอร์สีหรือยาทาเล็บสีสดใสทำเครื่องหมายที่เตาแกส ไมโครเวฟ
  • การตกแต่งภายในควรเน้นการเพิ่มการตัดกันของสี เช่น ขอบประตู หน้าต่าง    ใช้หลักการเดียวกันนี้ในห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น
  •  กระเบื้องปูพื้นหรือเสื่อน้ำมันควรเป็นสีเดียว ไม่มีลวดลาย   เมื่อของตกพื้นจะหาได้ง่ายขึ้น

  • IMG_0636.JPGIMG_8143.jpg

IMG_0658.jpgIMG_0664.jpg

ทำให้สว่างขึ้น

  • พกไฟฉายขนาดเล็กไว้ติดตัว  ไว้ส่องอ่านฉลากหรือป้ายราคา
  • ติดไฟเพิ่มความสว่างในห้อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้สายตาเลือนรางเป็นผู้สูงอายุ   ในผู้อายุ 60 ปีที่มีสายตาปกติต้องการความสว่าง 3 - 4 เท่าของผู้อายุ 20 ปีอยู่แล้ว  
  • ติดไฟเพิ่มบริเวณบันไดและทางเดินเพื่อป้องกันการหกล้ม  
  • ติดไฟเพิ่มหรือใช้โคมไฟเฉพาะจุดในตำแหน่งที่ต้องทำงาน เช่น ทำครัว
  • ในการอ่านหนังสือ นอกจากไฟห้องแล้วควรเพิ่มไฟเฉพาะจุดจากโคมไฟที่ปรับทิศทางได้   ให้ไฟเข้าด้านข้างและปรับทิศทางไม่ให้เกิดแสงสะท้อนจากหน้ากระดาษ   เลือกใช้หลอดไฟ LED ซึ่งประหยัดไฟและไม่ร้อน  
  • แสงอาทิตย์จากหน้าต่างให้แสงที่ดี สามารถปรับความเข้มได้โดยใช้ผ้าม่านมู่ลี่หรือปรับระยะห่างจากหน้าต่าง  
  • ดวงไฟในห้องน้ำไม่ควรสว่างจ้าเกินไป เพราะเมื่อตื่นเข้าห้องน้ำในตอนกลางคืนจะทำให้ปรับตาเข้ากับห้องนอนที่มืดได้ช้า  
  • บริเวณที่อาบน้ำควรมีแสงเพียงพอ ไม่ถูกบังด้วยม่านห้องน้ำ หรือฉากกั้นเพราะคนส่วนใหญ่ถอดแว่นเวลาอาบน้ำ

P1010244.JPG 

ลดแสงกระจาย 

  • เลือกกระเบื้องปูพื้น เครื่องใช้ในห้อง โต๊ะ ตู้ ที่พื้นผิวด้าน ไม่มันวาวสะท้อนแสง  
  • วางโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์โดยไม่ให้มีแสงสะท้อนจากหน้าต่างหรือหลอดไฟ  
  • ลองใส่แว่นสีเหลืองหลายๆเฉดอาจช่วยให้เห็นดีขึ้น
  • ใส่หมวกเพื่อกันแสงสะท้อนทั้งนอกและในบ้าน

เคล็ดลับอื่นๆ

แถบช่องอ่านหนังสือ  ช่วยเน้นข้อความบรรทัดที่อ่านและปิดข้อความที่อยู่นอกกรอบ  ลดความจ้าของหน้ากระดาษ ทำให้อ่านหนังสือได้ดีขึ้น

สามารถทำเองได้ง่ายๆ   โดยใช้กระดาษแข็งสีเข้มเจาะรูตรงกลางเป็นช่องสี่เหลี่ยมพื้นผ้า  เวลาอ่านหนังสือให้วางช่องตรงกับบรรทัดที่จะอ่าน

IMG_0674.JPG

ภายในบ้าน  หลีกเลี่ยงพรมปูพื้นผืนเล็กเพราะจะทำให้สะดุดหกล้มได้ง่าย  สมาชิกในบ้านควรวางของให้เป็นระเบียบ  เมื่อใช้ของใช้แล้วควรวางกลับที่เดิมเพื่อให้ผู้สายตาเลือนรางหาได้ง่าย

พับธนบัตรตามราคา   ใช้การพับแตกต่างกันเพื่อช่วยบอกจำนวนเงิน เช่น  พับตามยาว พับครึ่งตามขวาง พับสี่ เป็นต้น

IMG_0679.jpg

การฝึกใช้สายตาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

  1. ฝึกเทคนิกการกวาดสายตา (scanning)

เป็นการเคลื่อนไหวศีรษะหรือตาเพื่อสำรวจสภาพแวดล้อม  โดยฝึกให้กวาดสายตามองไปรอบๆตัอย่างมีระบบ  จะทำให้เห็นสภาพแวดล้อม

รอบๆได้มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง  ตัวอย่างเช่น  เมื่อเดินเข้าไปในห้องประชุมให้เดินหลบจากประตู และมองไปรอบๆ  หาตำแหน่งสำคัญ เช่น บันได เวที ที่นั่ง ทางออก เป็นต้น 

  1. ฝึกหาจุดชัดที่สุด

เป็นการหาตำแหน่งที่ชัดที่สุดข้างจุดภาพชัด (จุดภาพชัดคือ จุดศูนย์กลางของจอตา  ซึ่งมักจะเสียไปในโรคจอตาเสื่อมจากเหตุสูงอายุ)   วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ที่มีภาพมัวแบบจุดดำตรงกลางขนาดไม่ใหญ่นัก เช่น โรคจอตาเสื่อมที่มีจุดดำขนาดเล็ก 

         วิธีการฝึก  สามารถฝึกได้ในห้อง   โดยมองตรงไปข้างหน้าจ้องที่นาฬิกาบริเวณศูนย์กลาง  สังเกตว่าที่ตัวเลข 1 ถึง 11 ตัวเลขใดเห็นชัดที่สุดตำแหน่งนั้นน่าจะเป็นจุดชัดที่สุด   ฝึกการใช้ตำแหน่งดังกล่าวในการมองภาพ     โดยฝึกหาตำแหน่งวัตถุต่างๆภายในห้อง     เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยจะสามารถมองได้อย่างเป็นธรรมชาติและเห็นสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น   เมื่อฝึกจนชำนาญแล้วจึงฝึกมองวัตถุเคลื่อนไหว เช่น  ผู้คนที่เดินไปมา  จากนั้นจึงฝึกการทำงานประสานกันของมือและสายตา

   scotoma.jpg

อุปกรณ์ช่วยในการมองเห็น

แว่นขยายแบบมือถือ 

แว่นขยายแบบมือถือเป็นอุปกรณ์ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและปรับตัวได้ง่าย  ส่วนใหญ่ราคาไม่แพง  พกพาสะดวก มีชนิดที่มีแสงไฟในตัว  และสามารถใช้ร่วมกับแว่นตาได้  แต่มีข้อเสียคือต้องใช้มือถือ   จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีมือสั่น  อาจจะทำให้เมื่อยมือถ้าต้องอ่านหนังสือนาน   และต้องถือในระยะโฟกัสจึงจะได้กำลังขยายสูงสุด  

 

แว่นขยายแบบวางกับวัตถุ  

มีชนิดแบบมีขาตั้ง หรือวางทาบกับวัตถุได้เลย  ข้อดีคือไม่ต้องใช้มือถือแต่ขนาดค่อนข้างใหญ่พกพาไม่สะดวก   ถ้าพื้นผิวที่ต้องการอ่านไม่เรียกจะใช้ค่อนข้างยาก  ราคาค่อนข้างแพง

 

โทรทัศน์ขยายภาพ

ใช้ขยายขนาดที่จะอ่านผ่านทางจอ   สามารถปรับความสว่างและเปลี่ยนพื้นหลังเป็นสีขาวหรือดำได้   แต่มีราคาค่อนข้างแพง

 

คำแนะนำสำหรับญาติและผู้ใกล้ชิด

1.        สมาชิกในครอบครัวเป็นผู้สำคัญที่สุดในการสนับสนุนและให้กำลังใจในการปรับตัวและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่   โดยเฉพาะในระยะแรกของการตามัว

2.        การใช้สายตาไม่ได้ทำให้สายตาเสื่อมเร็วขึ้น  การไม่ใช้สายตาเลยก็ไม่ได้เป็นการยืดอายุสายตาให้นานขึ้นแต่อย่างใดดังนั้นผู้สายตาเลือนรางสามารถอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์ได้ตามต้องการ

3.        สมาชิกในครอบครัวควรเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบเมื่อใช้ของแล้วควรนำไปวางที่เดิมทุกครั้ง

4.        คนทั่วไปมักคิดเอาเองว่าผู้สายตาเลือนรางคงจะไม่สนใจทำกิจกรรมอื่นๆเมื่อตามัว   ในความเป็นจริงแล้วเขาเหล่านั้น อาจจะยังพอใจในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ไปชมภาพยนตร์ การเดินเล่น หรือเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ  

5.        ในการพูดคุยกับผู้สายตาเลือนราง   การเรียกชื่อจะทำให้คู่สนทนาทราบว่าเราคุยกับเขาอยู่  ผู้สายตาเลือนรางไม่ใช่คนหูหนวกจึงไม่จำเป็นต้องพูดเสียงดัง  หากผู้นั้นมีการได้ยินลดลงควรพูดช้าๆชัดๆ  เมื่อพูดคุยเสร็จแล้วและจะเดินแยกออกไปควรบอกคู่สนทนาด้วย

กลุ่มอาการชาร์ลส บอนเน็ต (Charles Bonnet Syndrome)

ผู้สายตาเลือนรางประมาณ 20-30% จะเห็นภาพเหมือนจริงที่ตนเองทราบว่าไม่ใช่ภาพจริง   เช่น เห็นแมว สุนัข หรือคน ภาพที่เห็นจะชัดเจนและดูเหมือนจริงมาก  แต่ผู้สายตาเลือนรางจะทราบว่าภาพที่เห็นนี้ไม่ใช่ของจริง    อาการนี้ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตประสาท แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในผู้สายตาเลือนราง  ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่คนเดียว  เกิดได้ทั้งจากเบาหวานจอตา  จอตาเสื่อม ต้อหิน   และโรคอื่นๆ อาการเหล่านี้อาจหายไปเองได้ ผู้สายตาเลือนรางบางคนอาจรู้สึกเพลินกับการเห็นภาพเหมือนจริงเหล่านี้  แต่บางคนอาจรู้สึกกลัวหรือไม่ชอบ   การหลับตากระพริบตา จ้องไปที่ภาพนั้น ลุกเดิน หรือขยับตัวจะช่วยให้ภาพนั้นหายไปได้  

ผู้สายตาเลือนรางสามารถหาความเพลิดเพลินได้จากการฟังหนังสือเสียงดังนี้  

 

  1. ห้องสมุดสมเด็จพระเทพรัตน์ มีหนังสือเสียงมากกว่า ๑,๐๐๐ รายการ ราคาพระราชทานแผ่นละ ๕๐ บาททั้งนี้ไม่จำกัดว่าหนังสือจะมีความยาวกี่ชั่วโมงก็ตาม ซื้อได้ที่สำนักงานมูลนิธิราชสุดาฯ
  2. ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ  http://www.braille-cet.in.th/ มีหนังสือนวนิยายและประวัติศาสตร์ สามารถฟัง online ได้