จักษุแพทย์ไทยรับรางวัลวิจัยระดับนานาชาติ
Updated 2023-12-12 15:02:00
จักษุแพทย์ไทยรับรางวัลวิจัยระดับนานาชาติ
ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนภาพร ตนานุวัฒน์ และคณะ จากภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัล ชนะเลิศการนำเสนอ E-poster เรื่อง “Prevalence of dry eye disease and impact on quality of life among hospital staff during the pandemic” ในการประชุมวิชาการนานาชาติ European Dry Eye Society Meeting เมื่อวันที่ 2-3 มิถุนายน 2566 ณ เมืองมิวนิก สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี

รางวัลดังกล่าวมีผู้ร่วมวิจัย ได้แก่ อ.นพ. พิชญ์ อุปพงศ์1 พญ. อัฐภิญญา กันบุญ1 ศ.นพ. ทินกร วงศ์ปการันย์ 2 และ ศ.พญ. ณหทัย วงศ์ปการันย์2 ภาควิชาจักษุวิทยา1 และภาควิชาจิตเวชศาสตร์2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สรุปผลงานวิจัยโดยย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความชุกของโรคตาแห้ง ปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของบุคลากรในโรงพยาบาลช่วงที่มีโรคระบาดโควิด-19 โดยได้ทำการสำรวจแบบ online ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 โดยใช้แบบสอบถาม Dry eye related quality-of-life score ฉบับภาษาไทย (DEQS-Th) เพื่อประเมินอาการทางตาและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต แบบสอบถาม EuroQol- 5 dimensions-5 levels (EQ-5D-5L) และ Thymometer เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตในด้านต่างๆ
ผลการศึกษาจากผู้เข้าร่วมการสำรวจ จำนวน 1,250 ราย พบความชุกของโรคตาแห้ง ร้อยละ 62.01 โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์ ได้แก่ เพศหญิง ภูมิแพ้ ตาแห้งที่มีอยู่เดิม สายตาผิดปกติ ระยะเวลาในการจ้องจอ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้พบว่าคะแนนจาก DEQS-Th ไปด้วยกันกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ประเมินจาก EQ-5D-5L และ Thymometer
โดยสรุป โรคตาแห้งมีความชุกที่สูงในกลุ่มบุคคลากรของโรงพยาบาลช่วงโรคระบาดโควิด-19 และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญ
การนำไปใช้ประโยชน์ในเวชปฎิบัติ
แบบสอบถาม DEQS-Th สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจโรคตาแห้งในประชากรกลุ่มต่างๆ ทำให้สามารถคัดกรอง/วินิจฉัย และให้การรักษาโรคได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่อาจเกิดตามมาได้