การนวดตาเป็นอันตรายถึงตาบอด โดย ผศ.นพ.บุญชัย หวังศุภดิลก

Updated 2016-07-27 08:51:00 by นพ. รัฐ อิทธิพานิชพงศ์


ปัจจุบันมีการพูดถึงการนวดตาที่จริงแล้วยังไม่มีหลักฐานใดๆยืนยันว่า การนวดตานั้นสามารถบรรเทา อาการ ผิดปกติทางสายตาอย่างถูกต้อง... นอกจากนี้การนวดตาอาจทำให้เกิดผลเสียขึ้นได้เช่น

การนวดตาโดยการกดแรงไปที่ดวงตาโดยตรง จะเป็นการเพิ่มแรงดันในดวงตา ลูกตาที่มีลักษณะกลมจะผิดรูป และอาจส่งผลให้ จอประสาทตาลอก เลนร์ตาเคลื่อน เลือดออกในวุ้นตา และความดันในตาสูงก็จะทำให้เป็นต้อหินได้

ดังนั้นเราควรหลีกเลี่ยงการนวดตาเพราะจะเกิดอันตรายได้  
การพักผ่อนสายตาที่ดีที่สุดคือ เมื่อเราจ้องมองหน้าคอมเป็นเวลานานๆ ให้ออกมามองบริเวณอื่นหรือ มองออกไปไกลๆ เป็นเวลา 15 - 20 นาที หรือจะหลับตา เป็นระยะเวลาสั้น เพื่อถนอมสายตาให้อยู่คู่กับเราไปนานๆ นะครับ

หนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการนวดตาเพื่อรักษาโรคตา

เนื่องจากในปัจจุบันได้มีคลิปวิดิโอการรักษาโรคตาด้วยการนวดตาเผยแพร่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในคลิปวิดิโอดังกล่าวได้แสดงวิธีการนวดตาเพื่อรักษาโรคจุดรับภาพเสื่อม(age-related macula degeneration: AMD) รวมถึงโรคต้อหิน(glaucoma) และการนวดตาในเด็กเพื่อป้องกันการเกิดภาวะสายตาสั้น(myopia) นอกจากนี้ยังมีการอธิบายถึงความเสี่ยงของการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานในคนเอเชียอาจทำให้ตาบอด ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับชมเกิดความสับสนและเข้าใจผิดในข้อมูลดังกล่าว

ทางชมรมต้อหินแห่งประเทศไทยมีความกังวลในข่าวสารที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการของการนวดตา ที่ได้มีการเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน ทางชมรมต้อหินแห่งประเทศไทยจึงต้องการนำข้อเท็จจริงทางวิชาการมาเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจจะได้มีความข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนวดตา

โดยปกติแล้วตาของคนเรามีความตึงตัวของลูกตาอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว โดยความตึงตัวของลูกตานี้เราเรียกว่าความดันในตา(intraocular pressure) ซึ่งโดยปกติคนเราจะมีความดันในตาไม่เกิน 21มิลลิเมตรปรอท ซึ่งการนวดตาหรือกดตาแรงๆจะทำให้ความดันในตาสูงขึ้น ถึงแม้ว่าหลังนวดตาอาจพบว่าความดันในตาอาจจะลดลงช่วงสั้นๆ ความดันในตาที่สูงขึ้นนี้ถ้ามีการกดที่แรงมากอาจทำให้ความดันขึ้นสูงได้ถึง 80 มิลลิเมตรปรอท โดยความดันในตาที่สูงระดับนี้สามารถทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดแดงหรือเส้นเลือดดำของจอตาอุดตันได้(retinal artery or retinal vein occlusion) ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร นอกจากนี้ความดันในตาที่สูงขขึ้นในระหว่างที่นวดตาหรือกดตายังเพิ่งความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อหินอีกด้วย ดังนั้นจากเหตุผลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการนวดตานั้นไม่ได้ทำให้โรคต้อหินดีขึ้นแต่จะทำให้ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินมีอาการแย่ลง และในขณะเดียวกันยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้คนที่ไม่เป็นต้อหินกลายเป็นต้อหินได้ด้วย โดยเฉพาะการนวดตาในเด็กจึงไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ใดที่บอกว่าการนวดตาจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะสายตาสั้นได้

ในส่วนของโรคจุดรับภาพเสื่อมนั้นเกิดจากการเสื่อมสภาพของจอตา(retina) ทำให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ไม่ปกติ(neovascular membrane)ตรงจุดรับภาพ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะสูญเสียการมองเห็นจากการเสื่อมของจอตาหรือจากมีเลือดออกในชั้นจอตาจากเส้นเลือดใหม่ที่ไม่ปกติ การรักษาโรคนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การกำจัดเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติให้หมดไปเพื่อไม่ให้เกิดเลือดออกในชั้นจอตาและการป้องกันการเกิดโรคซำ้ ซึ่งจากข้อเท็จจริงข้างต้นการนวดตาเพื่อไปเพิ่มการไหลเวียนเลือดบริเวณจอตาแล้วจะทำให้โรคจุดรับภาพเสื่อมดีขึ้นจึงไม่เป็นความจริง ในทางกลับกันการนวดตาอาจทำให้เส้นเลือดที่ผิดปกติดังกล่าวแตกและทำให้การดำเนินโรคของผู้ป่วยแย่ลงได้ นอกจากนี้การนวดตายังอาจทำให้เกิดโรคทางตาอื่นๆได้อีกเช่น จอตาลอก(retinal detachment) เลือดออกในตา(hyphema) เลนส์แก้วตาเคลื่อน(lens subluxation) เป็นต้น ในเรื่องของการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้วอาจทำให้ตาบอดได้ในคนเอเชีย ในปัจจุบันยังไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์มาก่อนว่าการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์จะทำให้ตาบอดได้ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด

โดยสรุปจากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดการนวดตามีผลเสียดังต่อไปนี้
1. ทำให้ความดันในตาสูงขึ้นซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นต้อหิน
2. อาจทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดจอตา
3. การนวดตาอาจทำให้โรคจุดรับภาพเสื่อมแย่ลงได้จากการมีเลือดออกในชั่นจอตา
4. การนวดตามิได้ช่วยให้ภาวะสายตาสั้นดีขึ้น
5. การนวดตาอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะภายในลูกตาได้

ในปัจจุบันประชาชนมีความสนใจและใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้น ในขณะเดียวกันในยุคที่มีการใช้อินเตอร์เนตอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางด้านสุขภาพได้อย่างง่ายดาย แต่ควรจะใช้วิจารณญาณก่อนนำข้อมูลที่ได้มาใช้ ถ้าไม่แน่ใจควรจะปรึกษาแพทย์หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือก่อนตัดสินใจนำข้อมูลนั้นมาใช้ เพราะบางครั้งถ้าข้อมูลทึ่ได้มาไม่ถูกต้องหรือเข้าใจผิด การนำข้อมูลนั้นไปใช้อาจทำให้เกิดโทษได้

ด้วยความปราถนาดีจาก
ชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย

(เขียนโดย:
ผศ.นพ.บุญชัย หวังศุภดิลก
ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)