แสบตา ปวดตา น้ำตาไหล...ใครว่าฉันตาแห้ง!!!

Updated 2017-05-08 09:00:00 by นพ. รัฐ อิทธิพานิชพงศ์


"ตาแห้ง" อีกภาวะที่พบได้บ่อยทางจักษุวิทยา โดยเฉพาะยุคที่ต้องทำงานผ่านหน้าจอกันทั้งวัน มาเรียนรู้กันเพิ่มเติมจาก บทความนี้ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

ตาแห้ง (Dry eye หรือ Xerophthalmia) เป็นภาวะที่ฟิล์มน้ำตา หรือ Tear film ที่ฉาบอยู่บริเวณผิว/เนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตา (Ocular surface) มีจำนวนหรือคุณภาพไม่เพียงพอที่จะหล่อลื่นผิว/เนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตา จึงก่อให้ผิว/เนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตาเกิดการระคายเคือง จึงก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง ระคายเคืองตา ไม่สบายตา

ในภาวะปกติ ฟิล์มน้ำตาที่ผิว/เนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตามีด้วยกัน 3 ชั้น จากชั้นนอกสุดไปถึงชั้นในสุด ได้แก่
1. ชั้นไขมัน สร้างจากต่อมที่เรียกว่า Meibomian gland ที่อยู่ภายในเปลือกตา/หนังตา
2. ชั้นสารน้ำ สร้างจากต่อมน้ำตาที่เรียกว่า Lacrimal gland
3. ชั้นน้ำเมือก สร้างจากเซลล์ที่เรียกว่า Goblet cell ในเยื่อบุตาและในกระจกตา

ทั้งนี้ - หากน้ำตาชั้นไขมันบกพร่อง มักเกิดจากโรคของเปลือกตา/หนังตาที่มีการ เสีย หายของต่อม Meibomian gland (เช่น ผู้ป่วยโรค Rosacea/โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง โรคเปลือกตา/หนังตาอักเสบเรื้อรัง) ซึ่งเรียกว่า ภาวะต่อม Meibomian ไม่ทำงาน (Meibomian gland dysfunction เรียกย่อว่า ภาวะ MGD)
- หากชั้นสารน้ำบกพร่อง จะเกิดภาวะ Keratoconjunctivitis sicca เรียกย่อว่า ภาวะ KCS เช่น ในโรค Sjogren (โรคโอโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่งซึ่งมีผลให้ต่อมต่างๆที่มีหน้า ที่สร้างสารหล่อลื่น/สารน้ำ เสียหายทำงานได้น้อยลง จึงส่งผลให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อต่างๆแห้งผิด ปกติ)
ภาวะต่อมน้ำตาไม่ทำงาน, ภาวะตาปิดไม่สนิทจากอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า, ตลอดจนโรคเอดส์
- หากขาดน้ำเมือก มักพบใน ภาวะลูกตาได้รับภยันตรายจากสารเคมี,
โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง, ภาวะขาดวิตามินเอ, โรคริดสีดวงตาเรื้อรัง ตลอดจนจากการแพ้ยาต่างๆที่ทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนังรอบ ๆตาร่วมกับเยื่อบุตา (เช่น โรคสะตีเวนส์จอห์นสัน/Steven’s Johnson syndrome)

** ตาแห้งมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของตาแห้ง ได้แก่

- มีการสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ จากพยาธิสภาพของต่อมต่างๆที่สร้างน้ำตา (อ่านเพิ่มเติมในบทความ กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา หัวข้อ กายวิภาคและสรีรวิทยาของระ บบน้ำตา)
- ส่วนประกอบของน้ำตาผิดปกติ เนื่องจากน้ำตาระเหยเร็วกว่าปกติ ทำให้น้ำ ตาค่อนข้าง Hypertonic /มีความเข้มข้นมากเกินไป (บางคนใช้คำว่า เค็มเกินไป = too salt) น้ำตาชนิดนี้จะทำลายปลายประสาทที่มาเลี้ยงเยื่อบุตาและกระจกตา ทำให้ทำงานไม่ได้สมดุล จึงมีการสร้างน้ำตาน้อยลง
- อายุมากขึ้น เซลล์ต่อมน้ำตาจะเสื่อมเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกาย การสร้างน้ำตาจึงน้อยลง
- เป็นโรคเบาหวาน เพราะจะส่งผลให้เกิดการอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อของเซลล์ต่อมน้ำตา จึงสร้างน้ำตาลดลง
- ทำ เลสิก (Lasik) มา ซึ่งการทำ เลสิก จะมีการตัดเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกระจกตา (Corneal nerve) ทำให้ไม่มีตัวกระตุ้นให้สร้างน้ำตา ทำให้การสร้างน้ำตาลดลงชั่วคราวช่วง 1-6 เดือนแรก หลังจากนั้นการสร้างน้ำตาก็จะกลับมา
- ใช้คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส (Contact lens) พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ ที่มีภาวะตาแห้ง
- ตาที่ได้รับอุบัติเหตุทำให้หนังตา ไม่แนบกับผิวลูกตา น้ำตาจึงระเหยได้ง่าย ตาจึงแห้งง่าย
- การใช้ยาบางชนิดประจำ เช่น ยาหยอดตารักษาต้อหิน ยารับประทานที่มีฤทธิ์ต้านการทำงานของระบบประสาท (Anticholinergic drug) รวมทั้งประสาทต่อมน้ำตา จึงลดการสร้างน้ำตา เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาคลายเครียด ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson disease) ยาบรรเทาโรคหวัด ยารักษาโรคภูมิแพ้ในกลุ่มแอนติฮีสตามีน (Antihistamine) เป็นต้น

** ตาแห้งมีอาการอย่างไร?
อาการที่เข้ากับโรคตาแห้ง ได้แก่
-มีความรู้สึกฝืดในตาเหมือนไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง
-ระคายเคืองตา
-ไม่สบายตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา
-ตาพร่า แพ้แสง
-ตามัวลง อาจเห็นภาพๆเดียวซ้อนเป็น 2 ภาพได้

ทั้งนี้ อาการต่างๆที่กล่าวข้างต้น จะเป็นมากขึ้นเมื่อใช้สายตามากขึ้น เช่น อ่านหนังสือ ขับรถ ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือ ดูทีวี อยู่ในสิ่งแวดล้อมบางภาวะ เช่น ที่มีลมพัดแรง อยู่บนเครื่องบิน อยู่ในห้องแอร์ เป็นต้น

***แพทย์วินิจฉัยภาวะตาแห้งได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะตาแห้งได้จาก
จากอาการ และประวัติที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
ตรวจบริเวณใบหน้ารอบๆดวงตา เพื่อดูโรคต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น
-ลักษณะของโรค Rosacea
-ภาวะหนังตาที่ผิดปกติ
-ขนตาที่เขี่ยผิวลูกตา
-ดูขอบหนังตาเพื่อดูรูเปิดของต่อม Meibomian
-ดูผิวกระจกตาที่ไม่เรียบ
-ร่วมกับเมือกที่ผิวลูกตามีลักษณะผิวปกติ
ซึ่งในรายที่เป็นรุนแรง ผิวกระจกตาจะขรุขระบางลง จนบางรายมีรอยทะลุของกระจกตาได้ อาจมีการตรวจเฉพาะพิเศษอื่นๆเพิ่มเติม เช่น เพื่อดูคุณภาพของน้ำตา เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย สาเหตุ และดุลพินิจของจักษุแพทย์

**ตาแห้งมีผลเสียอย่างไร?
ภาวะตาแห้ง นอกจากก่อให้เกิดอาการไม่สบายตา แสบตา เคืองตา ตาสู้แสงไม่ได้ ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่แล้ว อาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพอย่างอื่น เช่น
-กระจกตาถลอก ผิวกระจกตาอาจหลุดลอกออกมา ยิ่งก่อให้เกิดความเจ็บ ปวดมากขึ้น อีกทั้งมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น เนื้อเยื่อชั้นเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ของเยื่อตา และของกระจกตามีการเปลี่ยนแปลง (Squamous metaplasia) ผิวลูกตาจะดูไม่สดใส กระจกตาเป็นแผล เกิดเป็นจุดๆทั่วไป (Punctale keratitis) ซึ่งทำให้เจ็บตา ตาสู้แสงไม่ได้
-กระจกตาเป็นแผล ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย (Corneal ulcer)
-มีหลอดเลือดเกิดใหม่เข้ามายังกระจกตา (Corneal neovascularization) ทำให้กระจกตาขุ่นขาว ไม่ใส ทำให้ตาแดง และตาพร่ามัวลง
-เมื่อเป็นตาแห้งแบบที่รุนแรงนานๆเข้า กระจกตาจะเกิดเป็นแผลเป็น บางลง และบางรายถึงขั้นกระจกตาทะลุได้

*** รักษาภาวะตาแห้งอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะตาแห้ง มักจะแนะนำทำเป็นขั้นๆไป คือ
1. ปรับสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หลีกเลี่ยงสถานที่มีฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ที่เป่าผมไม่ให้ใกล้ตา หลีกเลี่ยงการใช้พัดลม หรือ อยู่ในห้องแอร์นานๆ หากจำเป็นต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ควรจัดโต๊ะและเครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการใช้แว่นตาที่เหมาะสม
2. รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เปลือกตา/หนังตาอักเสบ ทำให้มีการทำลายต่อม Meibomian ซึ่งหากมีภาวะหนังตาอักเสบ ควรรักษาความสะอาดขอบตา ลดการใช้ยาต่างๆที่ทำให้มีการสร้างน้ำตาน้อยลง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น
3. การชดเชยน้ำตา ด้วย
ใช้น้ำตาเทียม ซึ่งอาจเป็นรูปของน้ำใส เป็นเจล หรือ ขี้ผึ้ง
- แบบน้ำใสใช้ง่าย ไม่ทำให้ตามัว แต่ต้องหยอดบ่อย เพราะยาหมดอย่างรวดเร็ว
- แบบเจล หรือ ขี้ผึ้งอยู่ในตาได้นานกว่า แต่อาจเหนียวเหนอะหนะ ทำให้ตามัวลงมักนิยมใช้ก่อนนอน
น้ำตาเทียมชนิดใส มี 2 แบบ คือ
- ชนิดมีสารกันเสีย มักบรรจุในรูปแบบเป็นขวด สามารถใช้ได้นานถึงประมาณ 1 เดือน
- และชนิดรูปแบบที่เป็นกะเปาะ ไม่มีสารกันเสีย จึงใช้ได้ไม่เกิน 24 ชม. มักทำในรูปกะเปาะพลาสติคเล็กๆ มีน้ำตาเทียมอยู่ 4-8 หยด
ในกรณีตาแห้งมากต้องใช้น้ำตาเทียมบ่อยเกินวันละ 4 ครั้ง ควรใช้แบบไม่มีสารกันเสีย หากใช้แบบมีสารกันเสียวันละหลายๆหยด ตัวสารกันเสียอาจทำอันตรายต่อผิวกระจกตาได้
4. ใช้ยาที่เป็นสารน้ำเหลืองจากเลือด (Serum) ของตัวเราเอง เรียกว่า Autologus serum ในปัจจุบันพบว่าการใช้น้ำเหลืองจากเลือดของเราเอง อาจช่วยลดการอัก เสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆของลูกตาและต่อมน้ำตา เพราะมีสารต่อต้านเชื้อโรค ตลอดจนสารเร่งการฟื้นตัวกลับคืนสู่ปกติของเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น
5. ใช้เครื่องช่วยที่เรียกว่า Moist chamber เป็นวัสดุคล้ายแว่นตาเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลูกตา (ไม่เป็นที่นิยม และยังไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา)
ภาวะตาแห้ง ขาดความสมดุลของผิวตา มักจะก่อให้เกิดการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อได้ จึงอาจต้องให้ยาหยอดตาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อได้ ซึ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง ภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์
6. ปัจจุบันมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immunosuppressant) บางชนิด เช่น ยา Cyclosporine ชนิดหยอด เพื่อลดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อของเนื้อเยื่อของลูกตาและของต่อมน้ำตา เป็นต้น
7. อาหารที่มี โอเมกา 3 (Omega 3 fatty acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการอักเสบ 

ในบางคนอาจช่วยให้ภาวะตาแห้งดีขึ้นได้การพยายามลดการระเหยของน้ำตาด้วยวิธีผ่าตัด หรือ ปรับกายวิภาคของเนื้อ เยื่อส่วนต่างๆของตา เช่น
8. การอุดท่อระบายน้ำตา (Punctual plug) เป็นการอุดบริเวณช่องทางที่ไหลออกของน้ำตา (Punctum) ลงสู่โพรงจมูก ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราว และชนิดอุดถาวร
หรือ Punctal cautery ใช้จี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา ซึ่งเป็นการอุดบริเวณไหลออกของน้ำตาแบบถาวรไปเลย
9. ปัจจุบันมีการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่เรียก Scleral lens ซึ่งมีความโค้งที่แตกต่างจากคอนแทคเลนส์ธรรมดา ทำให้อุ้มน้ำตาอยู่ได้มากขึ้น
10. การเย็บเปลือกตา/หนังตา บน-ล่าง เข้าหากันบางส่วน (Tarsorrhaphy) ในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติของเปลือกตา/หนังตา

*** ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรพบจักษุแพทย์ แต่ถ้ามีตามัว เห็นภาพไม่ชัดเจน ควรต้องรีบพบจักษุแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงเสมอ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ชัดเจน เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ
เมื่อทราบว่า เป็นภาวะตาแห้ง การดูแลตนเอง การพบจักษุแพทย์ คือ
-ปฏิบัติตามจักษุแพทย์ และพยาบาลแนะนำ
-ใช้น้ำตาเทียมอย่างถูกต้องตามจักษุแพทย์/แพทย์แนะนำ
-ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
-ปรับพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดภาวะตาแห้ง เช่น ในเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ รู้ จักใช้แว่นตาเพื่อป้องกันแสงแดด ฝุ่นละออง และเลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น
-สังเกตการใช้ยาควบคุมโรคอื่นๆ และการใช้ยาต่างๆ ว่า มีผลต่อภาวะตาแห้งหรือ ไม่ เพื่อแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่ออาจปรับเปลี่ยนยา
-รู้จักวิธีที่ถูกต้องในการใช้คอนแทคเลนส์ เมื่อต้องใช้คอนแทคเลนส์
กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน (จำกัด แป้ง หวาน เค็ม ไขมัน กินผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้น) เพื่อลดโอกาสเซลล์ต่างๆรวมทั้งเซลล์ของลูกตา และต่อมน้ำ ตาเสื่อมก่อนวัย
-กินอาหารมีโอเมกา 3 อย่างพอเพียง ถึงแม้การศึกษาต่างๆยังไม่ชัดเจนว่ามีประ โยชน์ในการรักษาหรือป้องกันภาวะตาแห้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เพราะยังไม่พบโทษจากสารอาหารชนิดนี้ อาหารที่มีโอเมกา 3 สูง เช่น ปลาทะเล (เช่น trout, salmon, tuna, cod, mackerel, herring) และไข่ที่ผสม โอเมกา 3
-พบจักษุแพทย์ก่อนนัด หรือ รีบพบจักษุแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติทางตาต่อ เนื่องและไม่ดีขึ้นหลังการรักษา โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาทางสายตา หรือ ตามัวลง

***ป้องกันตาแห้งได้อย่างไร?
-การป้องกันภาวะตาแห้ง คือ การหลีกเลี่ยง งด เลิก และการป้องกัน รักษา ควบคุม สิ่งต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง ที่สำคัญ คือ
-กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำ เสมอ เพื่อป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะตาแห้ง
-รู้วิธีที่ถูกต้องในการใช้คอนแทคเลนส์เมื่อจะใช้คอนแทคเลนส์
-เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
-รู้วิธีที่ถูกต้องในการใช้งานคอมพิวเตอร์
-รู้จักใช้แว่นตาเพื่อปกป้องลูกตา


บทความโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

credit รูปจาก rockfordfamilyeyecare