How to writing a smart abstract?

Updated 2021-12-24 20:44:00



How to Write a Smart Abstract?


                                                 นายแพทย์มานะชัย นนท์ภาษโสภณ 

                                                                    ภาควิชาจักษุวิทยา 

                                           คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี



การเขียนข้อสรุปสำคัญ (abstract) นับเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในบทความผลงานวิจัย ข้อสรุปสำคัญที่ดีจะช่วยให้ผลงานวิจัยเป็นที่สนใจและทำให้ผู้อ่าน (readers) ทราบถึงสาระสำคัญที่ผู้ทำวิจัยต้องการสื่อสารกับผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านมีความสนใจอ่านผลงานฉบับเต็มได้มากยิ่งขึ้น และยังเป็นการต่อยอดทำให้ผลงานวิจัยนั้นมีโอกาสที่ผู้ทำวิจัยอื่นๆ นำมาใช้เพื่ออ้างอิง (citation) ในอนาคต นอกจากนี้ข้อสรุปสำคัญที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผลงานวิจัยมีโอกาสได้รับการตอบรับจากผู้ประเมินต้นฉบับผลงานวิจัย (reviewers) ได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อสรุปสำคัญมักเป็นส่วนแรกที่ผู้ประเมินใช้ในการคัดเลือกเบื้องต้นว่าผลงานวิจัยมีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด


ข้อสรุปสำคัญที่ดีควรจะมีความกระชับ ถูกต้อง และแสดงผลเฉพาะข้อมูลสำคัญที่ผู้เขียน (authors) ต้องการสื่อสารกับผู้อ่าน ส่วนใหญ่บทความวิจัย (research articles) หรือบทความวิชาการ (review articles) จะมีข้อสรุปสำคัญเป็นองค์ประกอบ อย่างไรก็ดีในกรณีที่บทความวิจัยหรือบทความวิชาการนั้นไม่มีส่วนของข้อสรุปสำคัญเป็นองค์ประกอบ การเขียนข้อสรุปสำคัญสอดแทรกไว้ในส่วนหนึ่งของบทความหลัก (manuscript) จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจผลงานของผู้เขียนได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับส่วนประกอบสำคัญที่ควรมีอยู่ในข้อสรุปสำคัญมีดังต่อไปนี้


1. Title: หัวข้อเรื่องที่ดีควรชี้ประเด็นสรุปเรื่องที่เราศึกษาและพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัย โดยอาจลองนำคำสำคัญในข้อสรุปสำคัญ 6-10 คำมาลองเขียนประโยคแล้วเลือกประโยคที่สื่อความหมายของงานวิจัยได้ดีที่สุด กรณีที่ประโยคยังยาวเกินไปอาจลองตัดคำที่ไม่จำเป็น แต่ยังคงสามารถสื่อใจความสำคัญได้อยู่


2. Background หรือ Introduction: ควรกระชับได้ใจความ บอกถึงความสำคัญของที่มาของคำถามของงานวิจัย พยายามใช้ประโยคแรกของคำนำให้น่าสนใจและน่าติดตาม เช่นประโยค 1,000,000 blind people in the world caused by…” จะมีความน่าสนใจกว่าประโยคนำที่ว่า “An important cause of blindness is….” หลังจากนั้นสื่อถึงสิ่งที่มีข้อมูลและไม่มีข้อมูลในปัจจุบัน แล้วชี้ให้เห็นความสำคัญของงานวิจัยว่าช่วยเติมเต็มข้อมูลช่องว่างดังกล่าวได้อย่างไร


3. Objectives หรือ Purposes หรือ Aims: บอกถึงคำถามของงานวิจัยและสิ่งที่ต้องการศึกษา ควรระบุจุดประสงค์ให้กระชับและสื่อความหมายให้ชัดเจน


4. Methods: นับเป็นส่วนที่ยากในการเขียน เนื่องจากต้องมีความกระชับให้เพียงพอ เพื่อไม่เกินจำนวนคำที่กำหนดในการเขียน abstract ของสำนักพิมพ์นั้นๆ โดยวิธีการทำวิจัยที่ดีควรสามารถสื่อให้งานวิจัยมีความน่าเชื่อถือ โดยข้อมูลที่ควรมีได้แก่ รูปแบบการวิจัย (research design) สถานที่ทำวิจัย และประชากรเป้าหมาย (research setting) จำนวนคนไข้หรือประชากรตัวอย่างที่ทำการศึกษา เกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วยเข้าหรือออกจากงานวิจัย (inclusion/exclusion criteria) ระยะเวลาของการเก็บข้อมูลงานวิจัย บรรยายสิ่งที่ทำการศึกษา (intervention) บอกผลลัพธ์ที่ต้องการศึกษา (outcome measures) รวมถึงวิธีประเมินหรือวิธีการวัดผล และบอกวิธีทางสถิติซึ่งใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์


5. Results: อาจเริ่มต้นด้วยการบรรยายถึงจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยในตอนสุดท้าย ให้เหตุผลถึงผู้เข้าร่วมวิจัยที่ถูกคัดออก หลังจากนั้นให้ข้อมูลภาพรวมของผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งในแง่ของ demographic data เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ ภูมิลำเนา หรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น ระยะเวลาที่เก็บข้อมูล และผลลัพธ์สำคัญของคำถามของงานวิจัยที่ต้องการสื่อ กรณีที่เป็นการศึกษาลักษณะเปรียบเทียบให้บอกผลลัพธ์การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มให้ชัดเจน ข้อมูลที่เป็นลักษณะตัวเลขอาจให้ข้อมูลการกระจายตัวของข้อมูลในรูปแบบของ standard deviations (SD) หรือ 95% confidence interval (95%CI) ข้อมูลตัวเลขเชิงเปรียบเทียบควรบอกถึงผลการวิเคราะห์ข้อมูลว่ามีความสำคัญทางสถิติหรือไม่ โดยอาจใช้ค่า P-value ในการแสดงผล ตัวอย่างเช่น ประโยค Response rates differed significantly between diabetic and non-diabetic patients.” อาจสื่อผลลัพธ์ได้ไม่ดีเท่ากับประโยคThe response rate was higher in non-diabetic than in diabetic patients (49% vs 30%, respectively; P<0.01).” กรณีผลลัพธ์ไม่มีความสำคัญทางสถิติ ควรแสดงค่า beta error เพื่อหาความแตกต่างให้ผู้อ่านรับทราบ


6. Conclusions: บอกข้อสรุปที่สำคัญ และองค์ความรู้ใหม่ที่ต้องการให้ผู้อ่านทราบ และประโยชน์ที่ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต โดยข้อสรุปทั้งหมดควรมีข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยเป็นสิ่งสนับสนุน หลีกเลี่ยงการใช้ความเห็นส่วนตัว กรณีที่มีจำนวนคำเหลือพอ อาจเขียนถึงจุดด้อยของงานวิจัยรวมถึงแนวทางการศึกษาวิจัยต่อในอนาคต


การเขียนข้อสรุปสำคัญที่ดีอาจต้องใช้เวลาการฝึกฝนในช่วงแรกของผู้เริ่มต้นทำงานวิจัย ผู้เขียนแนะนำว่าหลังจากเขียนข้อสรุปสำคัญแล้วเสร็จ ผู้วิจัยอาจลองส่งข้อสรุปสำคัญให้อาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอ่าน หลังจากได้รับการชี้แนะ ผู้วิจัยจะทราบถึงจุดบกพร่องและนำมาแก้ไข ส่งผลให้การเขียนข้อสรุปครั้งต่อไปทำได้ดียิ่งขึ้น


Tips

      Do

           1. ตรวจเช็คข้อกำหนดจำนวนคำก่อนเขียน วารสารวิชาการแต่ละฉบับอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน

           2. ใช้ภาษาที่กระชับและเข้าใจง่าย ชี้แจงเฉพาะข้อมูลสำคัญที่ต้องการสื่อให้ผู้อ่านรับรู้

           3. ควรใส่คำค้นสำคัญที่เหมาะสม ไม่เฉพาะเจาะจงหรือกว้างเกินไป คำค้นที่ดีช่วยให้ผลงานวิจัยสืบค้นได้ง่ายขึ้น

           4. เขียนบทความทั้งหมดก่อนแล้วจึงมาเขียนข้อสรุปสำคัญ จะช่วยให้เห็นภาพรวมดีขึ้น

           5. เช็คไวยากรณ์และคำสะกดให้ดีและถูกต้อง

      DON’T

           1. เลี่ยงการใส่ความรู้สึกหรือการชี้นำผลของงานวิจัยต่องานวิจัยอื่นในอนาคต

           2. เลี่ยงการใช้คำซ้ำๆ ที่ไม่จำเป็น

           3. เลี่ยงการใช้คำย่อ

           4.เลี่ยงการให้ข้อมูลที่มีความขัดแย้งกับบทความหลัก

           5. เลี่ยงการให้ข้อมูลที่ไม่มีเขียนในบทความหลัก